ตอนที่ 2 DIY หุ่นมือและเวทีโชว์แบบง่ายๆจากการรีไซเคิลของเหลือใช้
จากบทความที่แล้ว มาทำหุ่นมือเพื่อการสื่อสารกันเถอะ! ตอนที่ 1 ประโยชน์ของหุ่นมือ
ครั้งนี้ Bmum ก็อยากจะมาแชร์ไอเดียการให้เด็กประดิษฐ์หุ่นมือและเวทีโชว์แบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร เพื่อให้เด็กได้เกิดความภาคภูมิใจ ที่ทำบางอย่างสำเร็จลงได้ด้วยตนเอง
จริงๆแล้ว Bmum เป็นคนชอบช้อปปิ้งอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยสนใจจะซื้อเสื้อผ้าหรือเครื่องสำอางใดๆ(แถมช่วงโควิดนี้แต่งหน้าไปก็โดนแมสก์ปิดทับอยู่ดี😷) แต่พอเห็นของเล่นดูหรูไฮโซจากร้านค้าในเน็ตกลับคลิกปุ่มหยิบใส่ตะกร้ารัวๆโดยเฉพาะพวกของเล่นสำหรับเด็กทั้งหลาย นอกจากจะช้อบมาให้ลูกแล้ว เพราะมีอาชีพเกี่ยวกับเด็ก จึงมีกับข้ออ้างกับตัวเองว่าเผื่อนำมาใช้ในการทำงานได้ด้วย…
แต่เมื่อเร็วๆนี้ Bmum กลับมาอ่านตำราต่างๆเพื่อทบทวนไว้เขียนบล็อก ก็ได้เจอประโยคที่เตือนสติในหนังสือ The Healing Path With Children ของ Mark A. Barnes ว่า อุปกรณ์หรือของเล่นราคาแพงที่เริ่ดหรูวิลิศมาหราทั้งหลาย ไม่ได้ส่งผลต่อการช่วยทำบำบัดให้เด็กเลยแม้แต่น้อย ถ้าเด็กเขารู้สึกสบายใจและปลอดภัยพอ เขาก็จะหาทางเล่นอิสระไปตามธรรมชาติของเขาจนได้ บางครั้งไอเท็มเหล่านี้กลับยิ่งไปปิดกั้นการเล่นของเด็กเพราะความหรูดูแพง จนเด็กไม่กล้าหยิบจับเต็มที่ กลัวเผลอทำพังแล้วถูกดุเข้าไปอีก…
คงจริงอย่างที่คุณMarkว่า จากประสบการณ์ทำงาน,การสังเกตดูลูกของตัวเอง และย้อนความจำสมัยที่ตนเองยังเป็นเด็กอยู่ ถ้าเด็กรู้สึกปลอดโปร่งสบายใจและนึกอยากจะเล่นอะไรซักอย่างขึ้นมา เขาก็จะหาทางเล่นจนได้ทั้งนั้น อย่างBmumอยากเล่นขายผัก ไม่มีของเล่นก็เอากล่องกระดาษมาระบายสี วาดผักชนิดต่างๆเอาเองแล้วเอาเชือกมาผูกแขวนไว้ที่กล่อง แค่นี้ก็สำเร็จแล้ว ได้ร้านขายผักมา 1 ร้าน ยังจำความรู้สึกเพลิดเพลินกับสมาธิต่อเนื่องที่ได้ทำและความรู้สึกภาคภูมิใจที่ทำได้สำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงมันจะดูบ้านๆกิ๊กก๊อก แต่ความรู้สึกตอนเป็นเด็กนั่นคือร้านขายผักของฉันที่แจ๋วที่สุดในโลก…
และเมื่อเร็วๆนี้น้องบุญลูกของ Bmum ก็ยิ่งทำให้แม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า เด็กๆช่างเป็นผู้เชี่ยวชาญ “การเล่น” เสียจริงๆ ขนาดไม่มีของอะไรเลย ก็ยังอุตส่าห์ใช้มือทั้งสองข้างนั่นแหละ มาเล่นสมมุติเป็นตัวละครต่างๆได้!
ในขณะที่ผู้ใหญ่อย่างพวกเราน่ะ ยิ่งอายุมากขึ้น มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนจะลืมเลือนพรสวรรค์แห่งการเล่นที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดไปเสียแล้ว Bmum รู้จักหลายคนที่เป็นโรคเครียด จากการปล่อยวางภาระงานและเรื่องต่างๆไม่เป็น ทำให้ไม่สามารถผ่อนคลายได้จริงๆถึงแม้อยู่ในช่วงลาพักร้อนก็ตาม บางครั้งตัว Bmum เองก็เป็นเหมือนกัน!
กลับมาเข้าเรื่องหุ่นมือกันอีกครั้งหนึ่ง อย่างที่บอกว่าตัวเองชอบช้อป ดังนั้นเมื่อคุณลูกเกิดไอเดียนึกอยากจะเล่นละครหุ่นมือ สัญชาตญาณแรกของ Bmum ที่จะหาเวทีโชว์(puppet theater)ให้คือ…

จากความประทับใจฉากนี้ในภาพยนตร์เรื่อง the sound of music ชั้นต้องหาซื้อให้ได้แบบนี้หรือใกล้เคียง!
แต่พอถูกคุณ Mark เตือนสติ(ในหนังสือ) งั้นชวนลูกมาdIY กันเองเถอะนะ😌
🔷หุ่นมือ 🔶

อุปกรณ์
- สีสารพัดชนิด
- กระดาษA4
- จานกระดาษ
- กรรไกร
- กาวลาเท็กซ์
- สก็อตเทป
- กระดาษสี
- วัสดุตกแต่ง เช่น ลูกตา เชือกสี สติกเกอร์ กากเพชร

ขั้นตอนการทำ
- ให้เด็กนำกระดาษ A4 มาระบายสีและตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆตามใจชอบ น้องบุญชอบใช้สีน้ำ (และลองมาพับครึ่งดูเพื่อให้เข้าใจเรื่องสมมาตร)
- นำมาพับเป็นถุงกระดาษ(หรือถ้าใครมีถุงกระดาษอยู่แล้วจะตกแต่งลงบนถุงตรงๆเลยก็ได้นะคะ)

- จะตัด แปะ พับ หยดสี สลัดสีอะไร แล้วแต่เด็กจินตนาการเลยค่ะ

- เอาจานกระดาษมาทำเป็นใบหน้าหรือถ้าเอาจานกระดาษมาพับครึ่งแล้วแปะตรงระหว่างรอยพับของก้นถุงกระดาษมันจะทำเป็นปากขยับได้ ตรงนี้อาจต้องช่วยแนะนำหน่อยในเด็กเล็ก

- คุณลูกอยากทำมังกร🐲 แต่พอออกมาแล้วบอกว่าเหมือนค้างคาวมากกว่า🦇 แต่ก็ไม่เป็นไร…

หรือจะดัดแปลงทำแบบหุ่นถุงเท้าหรือใช้ไม้ไอศกรีมแปะรูปวาดที่ตัดออกมาก็ได้นะคะ

🟣เวทีโชว์🟢

อุปกรณ์
- กล่องลังขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะหาได้ ให้เด็กมุดเข้าไปได้ยิ่งดี
- สีน้ำหรือสีผสมอาหาร
- แป้งอเนกประสงค์
- สก๊อตเทปหรือเทปกาว
- ผ้าไว้ทำผ้าม่าน ถ้าไม่มีใช้ตัดจากถุงพลาสติกหรือกระดาษทิชชูแผ่นใหญ่ๆแทนก็ได้
- คัตเตอร์
- กาวลาเท็กซ์
- ผลงานศิลปะที่ลูกวาดไว้เยอะแยะแล้วไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหนดี😬
ขั้นตอนการทำ
- อธิบายยากจัง😓 เอาเป็นว่าดูตามรูปเลยนะคะ ใช้คัตเตอร์ตัดกล่องยังไงก็ได้ให้เป็นช่องสำหรับหุ่นโผล่ออกมาแสดง สำหรับBmum ตัดแผ่นสี่เหลี่ยมเล็กๆออกมาแปะติดเพิ่มความสูงของอีกด้านหนึ่งให้เป็นที่กำบังตัวเด็กไว้ไม่ให้มองเห็น

- เนื่องจากน้องบุญชอบเล่นผสมสีน้ำทีละเยอะๆ เพื่อไม่ให้เปลืองตังค์ Bmum เลยเอาสีผสมอาหารมากวนเข้ากับผสมแป้งอเนกประสงค์และน้ำอุ่น คุณสมบัติก็จะคล้ายสีน้ำที่เด็กใช้ระบาย แต่ได้ปริมาณมากและรู้สึกปลอดภัย

- ให้เด็กตกแต่งกล่องยังไงก็ได้นะคะ จะทาสี ฉีกแปะก็ฟรีสไตล์เลย ส่วนน้องบุญเอากระดาษทิชชูมาชุบสีและกาวลาเท็กซ์นิดหน่อยแล้วแปะๆไปตามกล่องคล้ายทำเปเปอร์มาเช่

- เอาผลงานศิลปะของเด็กมาประดับ ติดผ้าม่านเข้าไป ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ทิ้งไว้ให้กาวและสีแห้งดี

ได้เวลา แสดงละครแล้วจ้า! เด็กโตหน่อยตั้งแต่ชั้นประถมไปถึงจะแสดงโชว์ได้เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ เด็กเล็กจะแค่เอามาเล่นๆตรงเวทีมากกว่า

พอเบื่อๆ เวทีก็อาจกลายเป็นบ้านแทน 🏡

เรื่องราวของกิจกรรมทำหุ่นมือก็จบลงเพียงเท่านี้ ถ้าใครที่ใกล้ชิดกับเด็กจะลองทำเล่นกันดูได้นะคะ ถ้าได้ผลยังไง ช่วยเรื่องการสื่อสารได้จริงหรือไม่ ลองกลับมาแชร์ให้Bmumฟังกันบ้างนะคะ😊