Posted in กิจกรรม, จิตวิทยา, วิทยาศาสตร์

🌬กิจกรรม ฝึกการหายใจ“เรียนรู้เรื่องการหายใจของเราจากโมเดลปอด”🌬

เป็นกิจกรรมลำดับถัดมาจาก ลมหายใจวิเศษของฉัน
ที่จะตอกย้ำ ให้เด็กๆเข้าใจเรื่องการหายใจชัดมากขึ้นไปอีก ก่อนที่จะพาเด็กฝึกการหายใจ(breathing exercise)เพื่อผ่อนคลายความเครียด

การฝึกฝนลมหายใจให้เกิดความสงบนั้น นับว่าเป็นศาสตร์โบราณหลายพันปีมาแล้ว อย่างในอินเดียก็มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ดูเหมือนโยคีโบราณจะรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจและร่างกายอันนี้เป็นอย่างดี

อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีความตึงเครียดเกิดขึ้น ก็ทำให้ลมหายใจเปลี่ยนเหมือนกัน เร็วและถี่กระชั้นขึ้น ในทางกลับกัน การฝึกปรับลมหายใจให้หายใจเข้าออกยาวๆลึกๆช้าๆ อย่างที่เรียกกันว่า breathing exercise นั้น ก็สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงอารมณ์ให้สงบ ผ่อนคลาย กลับคืนสู่สมดุลมากขึ้นกว่าเดิม

หลังจากที่ Bmum ได้ทำกิจกรรมประดิษฐ์คทาเวทมนย์แห่งลมหายใจวิเศษให้ลูกสังเกตเห็นลมหายใจได้ง่ายขึ้นในบทความก่อนหน้านี้…

คราวนี้ก็จะพาคุณลูกลงไประดับที่ลึกขึ้นมาอีก คือเริ่มๆให้รู้จักการหายใจเข้า ออกให้สงบ และสังเกตเห็นว่ามีลักษณะการเคลื่อนไหวหน้าท้องอย่างไรบ้าง
Bmumเคยให้ลูกนอนราบแล้วลองสังเกตดูว่าเวลาหายใจเข้าออก ท้องมันเคลื่อนขึ้นลงยังไงนะ รู้สึกไหมว่าเวลาหายใจเข้าท้องเราพองขึ้น หายใจออกท้องเรายุบลงนะ…แต่ก็เหมือนเรื่องลมหายใจในบทความที่แล้วแหละค่ะ… ฮีงงๆ บอกว่า แยกไม่ค่อยจะถูกว่าไหนขึ้นไหนลงแฮะ😂😂😂

Bmum เลยต้องมาหาทางทำให้เข้าใจชัดๆอีกแล้ว โดยการใช้แบบจำลอง”ปอดของเรา”ที่เคยทำไว้มาเป็นโมเดลให้เข้าใจกลไกของการหายใจก่อน

จริงๆBmumเคยทำกิจกรรมนี้กับลูกไปแล้วนะคะ แต่ตอนนั้นเพื่อเป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ให้เข้าใจการทำงานง่ายๆของอวัยวะปอด ช่องท้องและกะบังลม ตอนที่ถ่ายรูปเนี่ยไม่ได้ตั้งใจจะเอามาเขียนบทความเลย ถ้าใครอ่านแล้วดูภาพประกอบงงๆไม่เข้าใจ ต้องขออภัยมาอย่างสูง ณ ที่นี้ด้วย

Bmumเลยแนบคลิปวิดีโอขั้นตอนการทำที่ดูเข้าใจง่ายของต่างประเทศไว้ด้วยนะคะ

https://m.youtube.com/watch?feature=youtu.be&v=6oMFAMqSlq4

มาเริ่มกันเลยค่ะ!

อุปกรณ์ที่ใช้

  1. ขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เหลือใช้ ขนาดใหญ่หรือเล็กก็ได้นะคะ แต่ Bmumใช้ขนาด 1.5 ลิตร
  2. หลอดน้ำดื่ม
  3. ลูกโป่ง 3ใบ
  4. ปืนยิงกาวหรือกาวตราช้าง
  5. ดินน้ำมันไว้อุดตามช่องว่างไม่ให้ลมเข้า
  6. สกอตเทป
  7. กรรไกร
  8. คัตเตอร์
  9. เทปกาว
  10. หนังยาง

ขั้นตอนการทำ
1.นำหลอดพลาสติกมาตัดส่วนปลายออกประมาณ1/3 แล้วตัดแบ่งครึ่งให้เป็นสองส่วนเล็กๆเท่ากันอีก เราจะสมมุติส่วนเล็กๆนี้ว่าเป็นหลอดลมขั้วปอดทั้งสองข้าง ส่วนยาวกว่าที่เหลือก็จะให้เป็นหลอดลมใหญ่ ตัดบริเวณปลายของชิ้นส่วนหลอดเล็กๆทั้งสองอัน ให้ทำมุมเฉียงประมาณ30-45องศา จะได้นำมาประกบเข้าด้วยกันได้ ตามภาพ เชื่อมติดกันด้วยปืนยิงกาวหรือกาวตราช้าง

2.นำทั้งสองส่วนที่เชื่อมกันแล้วมาตัดให้เป็นรูเล็กๆด้านบนเสียบส่วนของหลอดที่เหลือเข้าไปตามภาพ เอาปืนยิงกาวหรือกาวตราช้างเชื่อมด้านนอกอุดรูรั่วให้สนิท พอกาวแห้งก็เอาลูกโป่งสองลูกมาครอบปลายหลอดสมมุติเป็นปอดทั้งสองข้างแล้วพันให้แน่นหนาด้วยเทปกาว

3.ใช้คัตเตอร์ตัดส่วนบนของขวดน้ำที่เราจะใช้ออกมาประมาณ 2/3 ใส่ชิ้นส่วนของปอดที่กาวแห้งแล้วเข้าไปก่อน

4.นำลูกโป่งอีกลูกที่เหลือมาตัดปลายข้างหนึ่งออก แล้วสวมเข้าไปที่ฐาน เอาหนังยางรัดขอบให้แน่นขึ้น สมมุติลูกโป่งชิ้นนี้เป็นกระบังลมและหน้าท้อง

5.เอาเทปกาวหรือสกอตเทปมาพันปิดส่วนลูกโป่งที่ฐานให้ไม่หลุดง่ายเวลาดึง และนำดินน้ำมันมาอุดส่วนบนรอบๆหลอดไม่ให้ลมเข้า

เสร็จแล้วหารูปภาพหน้าของเด็กหรือการ์ตูนที่ชอบมาแปะเพิ่มก็ได้

เมื่อเราดึงชิ้นลูกโป่งที่ฐานลงมา เหมือนเวลาหายใจเข้าแล้วท้องพองขึ้น ความดันในขวด(ช่องอก)จะลดต่ำลงกว่าความดันภายนอก ทำให้เกิดแรงดูดอากาศเข้ามาทางปลายหลอดด้านบน ลูกโป่งทั้งสองข้างก็จะโป่งพองขึ้นคล้ายลมเข้าเต็มปอด พอปล่อยมือก็จะไล่อากาศกลับไปทำให้ลูกโป่งแฟบลง เหมือนการหายใจออกเอาลมจากปอด

ความรู้ที่เอาไว้อธิบายให้เด็กๆ ดูตามลิ้งค์นี้ได้เลยนะคะ

กลไกการหายใจเข้า-ออกของคน

ทีนี้คุณลูกก็เข้าใจกลไกการหายใจมากขึ้นแล้ว
Bmumก็เลยให้คุณลูกนอนราบอีกครั้ง หลับตา หายใจเข้าออกช้าๆลึกๆ Bmumพูดนำให้ด้วยว่า หายใจเข้าท้องพองขึ้น หายใจออก ท้องยุบลง ให้ฝึกสังเกตสักพัก ให้เด็กๆลองเอามือวางเบาๆบนหน้าท้องด้วยก็ดีจะได้สังเกตการเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ชัดขึ้นอีก
คราวนี้ฮีเก็ทแล้วค่ะ🎉แถมยังบอกด้วยว่ารู้สึกสบายใจขึ้น🎐

กิจกรรมนี้ก็จบลงแล้ว บทความหน้าBmumจะมาเล่าเรื่องการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อไปตามลำดับ(progressive muscle relaxation)ที่Bmumเคยได้ไปเรียนและมีประสบการณ์มานะคะ (ซึ่งเทคนิคฝึกลมหายใจและการผ่อนคลายกล้ามเนื้อนี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการสร้างจินตภาพในเด็ก-creative visualizationต่อไปค่ะ)
สำหรับวันนี้ บายค่ะ 👋🏻🙏❤️

Advertisement

ผู้เขียน:

คุณแม่ลูกหนึ่งผู้มีประสบการณ์ทำงานในวงการเกี่ยวกับเด็กมาสิบกว่าปี มีความเชี่ยวชาญด้านเกี่ยวกับจิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก ยังเป็นแค่บล็อกเกอร์มือใหม่ แต่ไฟแรง🔥

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s