Posted in จิตวิทยา

🤡มาทำหุ่นมือเพื่อการสื่อสารกันเถอะ!(1)🎭

ตอนที่ 1 ประโยชน์ของหุ่นมือ

วันนี้ Bmum มีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหุ่นมือ หรือ puppet มาเล่าให้ฟังค่ะ

หุ่นมือ มันจะไปเกี่ยวข้องกับการสื่อสารในเด็กได้อย่างไร?

หุ่นที่ใช้บังคับได้ มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่หุ่นกระบอก หนังตะลุง ไปจนถึงชุดมาสคอต

https://youtu.be/UmmOJx_Hxto

แต่ที่เรามักนำมาใช้เพื่อสื่อสารกับเด็ก มักใช้หุ่นมือมากกว่า เพราะไม่ซับซ้อนและง่ายที่สุดในการควบคุมสำหรับเด็ก การนำมือของเราสวมเข้าไปในหุ่น ก็เปรียบเสมือนเราได้สวมวิญญาณเป็นตัวหุ่นนั้นชั่วขณะ

https://youtu.be/zEgVQFz2ZDY

ปกติเด็กจะมีความสามารถในการใช้ภาษาได้ต่ำกว่าผู้ใหญ่ เพราะคลังคำศัพท์ที่สะสมมายังน้อย จึงไม่สามารถใช้ภาษาเพื่อมาอธิบายความรู้สึกนึกคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กแสดงอาการอาละวาดโวยวายได้ง่ายเมื่อเกิดความขัดใจ

และนอกจากนั้น บางครั้งเด็กยังมีความยากลำบากในการแสดงความรู้สึกตรงๆต่อผู้ใหญ่ อาจเพราะความวิตกกังวลต่อผู้ที่ให้รางวัลหรือลงโทษเขาได้

การหา “สื่อกลาง” มาช่วยในการสื่อสาร จึงเป็นเทคนิคที่สำคัญมากในการทำให้เด็กสามารถแสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระขึ้น เพราะเด็กไม่รู้สึกว่ากำลังพูดถึงเรื่องของตัวเองตรงๆ แต่กำลังพูดถึงเรื่องของ”คุณหุ่น”ซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 อยู่ต่างหาก โดยกระบวนการที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกไปยังวัตถุอื่นนี้ มีคำศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า Projection การโยนความรู้สึกไปที่อื่น

…การโยนความรู้สึกนึกคิดที่ไม่สะดวกจะพูดออกมาตรงๆจากปากไปให้คุณหุ่นพูดแทนแสดงแทน ทำให้เด็กสามารถระบายความในใจออกมาได้โดยยังมีเกราะกำบังตัวเองอยู่อีกชั้น มีการเว้นระยะห่างพื้นที่ส่วนตัวจนรู้สึกปลอดภัย โดยกลไกทั้งหมดเป็นไปอย่างแทบไม่รู้ตัว เกิดในระดับจิตใต้สำนึกหรือไร้สำนึก…

ยิ่งถ้าผู้ใหญ่เองก็ไม่ได้พูดคุยกับเด็กตรงๆ แต่ตนเองก็แปลงร่างกลายเป็นหุ่นอีกตัว นั่นคือยิ่งเพิ่มระดับของความรู้สึกปลอดภัยเข้าไปอีกในการพูดคุยกันถึงประเด็นที่อ่อนไหวเปราะบางกันโดยอ้อมๆ มันไม่ใช่เรื่องของ “เด็กมาเล่าให้ผู้ใหญ่ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง” แต่มันก็แค่หุ่นสองตัวคุยกัน…ก็เท่านั้นเอง

นอกจากเราสามารถนำหุ่นนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการพูดคุยโต้ตอบกันไปมาได้แล้ว เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยหรือวัยรุ่น เขาอาจมาแสดงละครหุ่นโชว์ให้เราดู การที่มีอุปกรณ์อย่างเวทีแสดงโชว์(puppet theater) จะกระตุ้นความอยากแสดงของเด็กมากยิ่งขึ้น ซึ่งรายละเอียดBmumจะมาเล่าให้ฟังในตอนถัดไปอีกที

อย่านึกว่าวัยรุ่นหรือคนโตๆแล้วจะไม่สนใจของพวกนี้นะคะ เพราะหนึ่งในคุณสมบัติของหุ่นมือคือ สามารถทำให้เราย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กเล็กๆได้ ในคอร์สการเล่นบำบัดที่ Bmumเคยไปเรียนมา ผู้เข้าร่วมอบรมมีอายุเฉลี่ยราวๆสามสิบกว่าถึงเกือบสี่สิบปี พอถึงคลาสเรียนเรื่องหุ่นมือ เมื่อทุกคนเข้ามาในห้องประชุมก็พบกองหุ่นตุ๊กตานุ่มๆวางอยู่เต็มพื้นห้อง ทุกคนพากันลืมมาดผู้ใหญ่ ลืมเก๊กขรึม ต่างพากันกรี๊ดกร๊าด กรูกันเข้าไปสวมหุ่นที่มือแล้วขยับปากพวกมันไปมาพร้อมกับพูดพากย์เสียงเล็กเสียงน้อย…

สุดท้ายนี้ บางครั้งเรายังนำเอาหุ่นมือมาใช้เป็นตัวอย่าง(modeling)เพื่อสอนการปรับพฤติกรรมหรือการแก้ไขปัญหาให้เด็กได้อย่างอ้อมๆ การที่เรามาพูดในเชิงแนะนำสั่งสอนผู้อื่นตรงๆไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ บางครั้งก็อาจไม่ได้ผลเสมอไป เพราะทุกคนต่างก็มีเกราะกำบังไว้คอยปกป้องจิตใจความรู้สึกของตนเองกันทั้งนั้น ถึงต่อหน้าอาจพยักหน้ารับ ดูคล้ายเชื่อฟัง แต่ในใจอาจกำลังรู้สึกต่อต้านอยู่ก็เป็นได้

…แตกต่างจากถ้าเราเล่นหุ่นมือโชว์ให้ดู คล้ายรูปแบบของสาธกโวหาร เป็นเชิงเล่านิทานนิยายหรือแสดงละครผ่านตัวบุคคลที่ 3 ผู้รับสารจะไม่รู้สึกว่าถูกพุ่งเข้ามาใส่ตรงๆ จะทำให้ยอมรับสิ่งที่เราต้องการสื่อนั้นได้มากขึ้น…

การหาหุ่นมือที่ใช้กับเด็ก ตามหลักการแล้วความหลากหลายสำคัญกว่าปริมาณ ไม่ใช่ว่ามีแต่ตัวเจ้าหญิงอย่างเดียวเป็นสิบๆตัว แต่อาจมีคละๆกันไปเช่น คน สัตว์ นางฟ้า แม่มด สัตว์ประหลาด…

แต่ถึงหาซื้อไม่ได้ก็ไม่สำคัญ เพราะเราสามารถให้เด็กทำขึ้นมาเองได้ไม่ยาก ถึงจะไม่สวยงามแบบที่วางขายในท้องตลาด แต่เด็กก็ภาคภูมิใจที่เขาได้ประดิษฐ์มันขึ้นมาด้วยมือของเขาเอง และทำให้เชื่อมโยงตนเองเข้ากับหุ่นได้มากขึ้นด้วย

สำหรับตอนที่ 2 Bmum จะมาแชร์เรื่องกิจกรรมการ DIY หุ่นมือและเวทีแสดงมาให้อ่านกันนะคะ โปรดติดตามตอนต่อไปได้ที่ มาทำหุ่นมือเพื่อการสื่อสารกันเถอะ(2)

Advertisement

ผู้เขียน:

คุณแม่ลูกหนึ่งผู้มีประสบการณ์ทำงานในวงการเกี่ยวกับเด็กมาสิบกว่าปี มีความเชี่ยวชาญด้านเกี่ยวกับจิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก ยังเป็นแค่บล็อกเกอร์มือใหม่ แต่ไฟแรง🔥

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s