ถึงจะชอบหากิจกรรมให้ลูกทำแต่ก็ต้องย้ำกับตนเองว่าอย่าขาด free play!!!
ถึงบีมัม จะขี้เบื่อ ยิ่งช่วงเวลาแบบนี้ออกไปไหนไม่ค่อยได้ เลยชอบสรรหากิจกรรมนู่นนี่มากมายมาทำกับลูก…
แต่เร็วๆนี้บีมัมก็ไปเจอบทสคริปต์เชิงวิชาการที่ตัวเองเคยเขียนขึ้นเมื่อหลายปีก่อน เกี่ยวกับเรื่อง free play หรือการเล่นอิสระ เลยสำนึกได้ และเตือนตัวเองให้เพลาๆการยัดเยียดกิจกรรมต่างๆให้ลูกลงหน่อย…
วันนี้เลยถือโอกาสเรียบเรียงบทสคริปต์นั้นใหม่ และขออนุญาตนำมาแชร์ให้เพื่อนๆอ่านกันนะคะ
“การเล่นอิสระ” คือ กิจกรรมที่เด็ก เลือกจะทำขึ้นมาเอง ไม่ได้ถูกบังคับ ไม่ได้มีกำหนดรูปแบบหรือวิธีการเล่นที่ตายตัว(ดังนั้นเล่นเกมในแทบเลตจึงไม่นับ) ยกตัวอย่างเช่นอย่างเกมหมากฮอส เด็กอาจจะอยากเอากระดานมาสมมุติเป็นบ้าน แล้วเอาตัวหมากมาเล่นเป็นพ่อแม่ลูก ก็ยังได้ การเล่นชนิดนี้ เด็กเค้าไม่ได้หวังผลลัพธ์อื่น นอกจาก ความสนุกเท่านั้น
แต่จริงๆแล้วการเล่นอิสระกลับเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นขาดไม่ได้สำหรับพัฒนาการของเด็กเลยทีเดียว เพราะอะไร?
จากการศึกษาพบว่า การเล่น พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เป็นกระบวนการทางชีววิทยาที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตมีการเจริญเติบโต และพัฒนาไปตามธรรมชาติ

พัฒนาการของเด็ก ประกอบด้วย 4 ด้าน ร่างกาย สติปัญญา สังคม และ ภาษา ซึ่งFree play จะทำให้ทั้งสี่ด้านนี้เติบโตไปด้วยกันอย่างสอดคล้องสมดุล เพราะการเล่นไปตามธรรมชาติของเขาจะไปพัฒนาด้านต่างๆตรงตามช่วงวัยพอดี
🧒🏻พัฒนาการการเล่นของเด็กถ้าปล่อยให้เขาเล่นอิสระ👦🏻
🟨ขวบปีแรก – กำลังพัฒนาเยอะเรื่องประสาทสัมผัส,การเคลื่อนไหวและการทรงตัว เด็กจะเล่นในเชิงสำรวจโลกเพื่อพัฒนาสายตา หู จมูก การรับรส (sensory play) และเล่นเคลื่อนไหวซ้ำๆ ปีนป่าย กระโดด ขว้างของ เพื่อพัฒนาและทดสอบการควบคุมกล้ามเนื้อ(motor play)
🟧ขวบกว่าถึงสองขวบ จะเริ่มพัฒนาการใช้มือประสานสายตา เช่นเริ่มเอาสีมาขีดเขียน ปั้นดินน้ำมัน เอาของมาเรียงเป็นรถไฟ เทน้ำใส่แก้ว คือการเล่นเริ่มมีเป้าหมายว่าจะทำอะไรกับวัตถุ
🟩2-5 ปี พัฒนาการทางภาษาและสังคมกำลังเบ่งบาน เด็กจะเข้าใจเรื่องสัญลักษณ์มากขึ้น(สิ่งหนึ่ง ใช้แทนความหมายอีกสิ่งหนึ่ง) จึงใช้ภาษาได้ นำไปสู่การสื่อสารกับผู้อื่น ค่อยๆปรับมุมมองจาก ข้าคือศูนย์กลางของโลก มาเป็น เข้าใจว่าคนอื่นก็มีมุมมองของเขา ช่วงนี้เลยจะเล่นสมมุติและมีจินตนาการเยอะหน่อยเพื่อมาพัฒนาตรงนี้
🟥พออายุ 5 ขวบขึ้นไป คราวนี้สมองขั้นสูงแห่งการใช้เหตุผลและควบคุมตัวเองเริ่มมามากขึ้น การพัฒนาด้านนี้ต้องใช้เวลายาวนานไปถึงวัยผู้ใหญ่ ไปจนแก่ อาจเรียกได้ว่าต่อเนื่องตลอดชีวิต เด็กก็จะเริ่มเคารพกฎเกณฑ์สังคม ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ จึงเล่นเกมที่มีกติกาซับซ้อนได้มากขึ้น เช่น บันไดงู วิ่งเปี้ยว ซ่อนแอบ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าด้านอื่นๆเช่นกล้ามเนื้อ ภาษาพัฒนาเสร็จไปแล้วนะคะ ก็ยังพัฒนาอยู่นั่นแหละ ดังนั้นก็เลยยังซน และพูดจ้อถามไม่หยุดเหมือนเดิม😅
ถ้าหากการเล่นอิสระไม่เพียงพอล่ะ? เช่นถ้าพยายามจับเด็กอนุบาลมาให้นั่งนิ่งๆหัดเขียนบนโต๊ะเกือบตลอดทั้งวัน เด็กแทบไม่มีโอกาสเล่นอิสระเลย จะเป็นยังไง?🤔

มีงานวิจัยปีค.ศ. 2014 ของประเทศสหรัฐอเมริกาในเด็กอายุราวๆ6-7ปี จำนวน 70 คน แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ เด็กที่มีfree play มากในยามว่าง กับเด็กอีกกลุ่มที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการไปทำกิจกรรมที่มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน(จากผู้ใหญ่ออกแบบ)เช่น ไปเรียนพิเศษต่างๆ คลาสดนตรี กีฬา ทำอาหาร(ที่บีมัมชอบพาไปเรียนทั้งน้าน)เป็นต้น
ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจคือ พบว่ากลุ่มที่มี free play เยอะๆกลับมีความสามารถในการควบคุมตัวเอง จัดการกับอารมณ์และการบริหารจัดการชีวิต หรือที่เรียกกันว่าExecutive Function (EF )นั่นเองสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง เลยสรุปกันว่าเด็กที่ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการเรียนพิเศษเรียนเสริมต่างๆ จะขาดโอกาสและเวลาที่จะมาพัฒนาสกิลตรงนี้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบันนี้ Free playกำลังลดน้อยลงทุกที (โดยเฉพาะการปล่อยให้เด็กได้เล่นอิสระในธรรมชาติ🌿แบบสมัยปู่ย่าตายายที่วิ่งเล่นตามท้องไร่ท้องนา🌾เก็บดินเหนียวริมแม่น้ำมาปั้นวัวควาย เก็บใบตองมาทำม้าก้านกล้วย)

ยิ่งโควิดลงยิ่งแล้วใหญ่ อย่างบีมัมตอนนี้ก็เอาแต่หมกตัวกับลูกอยู่แต่ในบ้าน…ในที่สุดหันไปหันมาก็เข้าหาหน้าจอเยอะขึ้นเรื่อยๆ📱💻🖥
จะทำยังไงดีนะ…