วันนี้ Bmum อยากมาแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว ว่าจากการที่เป็นแม่ที่ชอบหากิจกรรมแนวๆวิทยาศาสตร์ให้ลูกทดลองทำ Bmum ได้ค้นพบว่า มีของบางอย่างที่มักจะจำเป็นต้องใช้อยู่แทบจะทุกกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กเลยทีเดียว
อ่านดูส่วนประกอบของการทดลองนี้ก็ อ้าวนี่ช้านต้องใช้ของพวกนี้อีกแล้วเหรอ ทำไงดีหมดเกลี้ยงแล้ว ขาดมือไม่มีใช้ พอคราวหลังBmumเลยพวกนี้ตุนไว้เยอะ พบว่าชีวิตขุ่นแม่สะดวกขึ้นมาก ไม่ว่าครูจะมีการเรียนออนไลน์อะไร หรือไปค้นพบกิจกรรมวิทยาศาสตร์แปลกๆใหม่ๆที่น่าสนใจ ก็มีอันต้องใช้ของพวกนี้อยู่ร่ำไป แต่เย้ๆ คราวนี้ชั้นกักตุนไว้เยอะแล้วย่ะ คุณลูกสามารถทดลองได้เต็มที่ไม่ต้องกั๊ก
พอพูดถึงวิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับพวกเราสมัยยังเรียนหนังสือกัน ทุกคนจำความรู้สึกได้ไหมคะว่าเป็นยังไงกันบ้าง…😱😱😱
สำหรับBmum รู้สึกเครียดขึ้นมาทันทีค่ะปนกับความรู้สึกกลัวๆ เหมือนเป็นวิชาที่ยาก จะต้องฟาดฟันกับมัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญมากๆวิชาหนึ่ง ที่อยากจะส่งเสริมให้ลูกได้ทำความรู้จักกับมันตั้งแต่ยังเล็กๆ
สิ่งสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ในเด็กเล็ก ไม่ใช่ว่าต้องมีความรู้เยอะรู้มากกว่าคนอื่น รู้จักตารางธาตุตั้งแต่อนุบาล ไม่ใช่อะไรแบบนั้น แต่คือ การสร้างประสบการณ์อันดีกับวิชาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยังเล็กๆ ให้รู้สึกประทับใจ ฝังใจ ว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่วิชายากๆน่าเบื่อของเด็กอัจฉริยะเท่านั้น แต่ก็เป็นสิ่งเรียบง่ายทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน จับต้องได้ เข้าถึงได้…
ลองนึกดูว่าถ้าเด็กๆ พอถึงคาบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทีไร ก็ตื่นเต้นเร้าใจ เพราะจะได้ผสมนู่นนี่เข้าด้วยกันเห็นสีสันฉูดฉาดสวยงาม อาจมีฟองฟู่ๆหรือมีกลุ่มควันลอยออกมา รู้สึกภาคภูมิใจที่ทำการทดลองสำเร็จ ได้ฟิลลิ่งว่าตัวเองเป็นสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ แบบนี้จะไม่นึกมีใจรักในวิทยาศาสตร์บ้างก็ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป!!!
สำหรับเด็กอนุบาล(หรือจริงๆทุกช่วงวัย?) Bmumเห็นว่าถ้าการเรียนมีความสนุกสนานควบคู่ไปด้วยมันจะทำให้เรียนรู้ได้ดีที่สุด ยิ่งแฝงมาในรูปแบบที่เหมือนการเล่นมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้ซึมซับความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถ่องแท้มากขึ้นเท่านั้น ดีกว่าการพยายามจะอัดๆยัดเยียดการท่องจำข้อมูลเข้าไปให้มากที่สุดทั้งๆที่ไม่เข้าใจจริงแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่ถึงเวลากลับเอามาใช้ไม่เป็นซะงั้น(แล้วจะเรียนไปเพื่อ?…) แถมความเครียดเกินไปยังทำลายประสิทธิภาพของความจำอีกต่างหาก…
(โปรดอย่าเข้าใจผิดนะคะว่าBmum ต่อต้านการท่องจำทุกๆชนิดนะคะ ถึงอย่างไรการหมั่นฝึกซ้อมทบทวนเนืองๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆสำหรับการเรียนรู้ทุกอย่างนะคะ แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่มาที่ไปจริงๆนะ บางอย่างมันก็จำเป็นต้องท่องอะเนอะ อย่างพวกตัวสะกดคำต่างๆ😊)
เอาล่ะค่ะ พอดีเพลินเขียนอารัมภบทไปซะยาว ก็ได้เวลาเข้าเรื่องซะที
อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับการทดลองวิทยาศาสตร์เด็กคือ พวกนี้ใช่ไหม???

โน โน No! ไม่ใช่อะไรที่วิจิตรพิสดารเลยค่ะ ก็แค่

- สีน้ำ สีผสมอาหาร
- น้ำส้มสายชู
- น้ำมันพืช
- เบกกิ้งโซดา
- น้ำยาล้างจาน
- (จริงๆที่ใช้บ่อยรองมาอีกก็เช่น นม กาว แป้ง โชคดีนะที่เป็นของที่มักมีติดบ้านกันอยู่แล้ว😉)
สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้สารพวกนี้มาทดลอง ก็คือ เรามีสารที่เป็นกรดและด่างครบ ถ้าเบกกิ้งโซดาซึ่งเป็นด่าง มาเจอกับน้ำส้มสายชูซึ่งเป็นกรด จะทำปฏิกิริยาเคมีกัน กลายเป็นเกลือและน้ำ และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้ายด้วย การเติมน้ำยาล้างจานเข้าไปจะเพิ่มฟองฟู่ขึ้นอีกเป็นปริมาณมาก ทำให้ดูน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น แถมยังทำให้ล้างออกง่ายตอนจบ(เริ่ดสำหรับผู้ใหญ่👍🏻)
น้ำมันกับน้ำจะไม่มีวันละลายเข้าหากัน ดังนั้นเวลาหยดสีซึ่งละลายน้ำได้ เช่นสีผสมอาหารแจ๋นๆลงบนหยดน้ำมัน มันจะกลายเป็นก้อนกลมๆสีสันสวยงามคล้ายลูกปัดแก้ว ทำให้น่าสนใจมากสำหรับเด็กๆเลยทีเดียวล่ะ
แถมสารพวกนี้ก็เรียกว่าปลอดภัยพอใช้ได้สำหรับเด็ก แถมมักจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ติดบ้านหรือหาซื้อได้ไม่ยากอยู่แล้ว
ตัวอย่างผลลัพธ์ของปฏิกิริยาเคมีง่ายๆจากสารพวกนี้ ถ้าสนใจลองดูจากคลิปลูกBmumถ่ายเก็บไว้ส่งเป็นการบ้านเรียนออนไลน์ได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้นะคะ ยิ่งมีพร็อพพวกชุดทดลองเด็กราคาไม่แพงที่หาได้ทั่วไปมาประกอบฉาก เด็กๆคงได้จินตนาการเล่นสมมุติว่าตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่อง เทนู่นผสมนี่มันกันไปเลย🤓🥽🧪🌡⚗️🧼
แต่ที่ต้องมาสรุปให้ฟังกันอย่างจริงจังเป็นทางการขนาดนี้ เพราะเวลาทดลองจริงๆ….สารพวกนี้ใช้เปลืองมากค่ะ! ปกติเราก็คงมีน้ำมันหรือน้ำส้มสายชูกันไม่ถึงบ้านละโหลสองโหลใช่ไหมคะ แต่นี่บางทีการทดลองนึงก็ปาเข้าไปครึ่งขวดแล้ว(ถึงสิ้นเปลืองแต่ก็เอาเถอะนะ…ยอม เพื่อการศึกษาลูก😅) มีครั้งนึงBmumใช้น้ำมันพืชซะหมดเกลี้ยงไม่เหลือไว้ทอดไข่เจียวให้ลูกเลยค่ะ ยิ่งช่วงโควิดแบบนี้ออกจะวุ่นวายน่าดู ออกไปซื้อใหม่ค่อนข้างจะยาก
ก็เลยฝากพ่อๆแม่ๆ อย่าลืมสต๊อกของพวกนี้ไว้เผื่อๆสักหน่อยกันบ้างนะคะ เพราะวันดีคืนดีเราก็ไม่รู้ว่าคุณลูกจะเกิดนึกสนใจอะไรขึ้นมาตอนไหน บางทีเกิดเราสอนอะไร ค้นคว้าความรู้อะไรกับลูกแล้วนึกอยากทำการทดลองขึ้นมา พอของไม่มีมันน่าหงุดหงิดเสียอารมณ์มากค่ะ เผลอๆพอได้ของมา ลูกก็หันเหความสนใจไปเรื่องอื่นๆเสียแล้ว ไม่อยากทำแล้ว เราก็อาจจะพลาดโอกาสช่วงที่ความสนใจกระตือรือร้นของคุณลูกกำลังพีค ไปอย่างน่าเสียดายนะคะ…
5 ไอเท็มพวกนี้เป็นส่วนประกอบของการทดลองอะไรได้บ้าง? ยกตัวอย่างเช่น
กรด กับ เบส
ภูเขาไฟ
หยดฝนสี
สารเคมีทำปฏิกิริยาเดือดปุดๆ
ทำสไลม์
ทดลองนมพ่นสี…
ไข่กระเด้ง
น้ำเดินได้
และอื่นๆอีกเพียบ…
บางกิจกรรม Bmum ก็ลองทำดูไปแล้ว แต่บางอย่างก็ยังไม่เคย แต่ก็ว่าจะหาโอกาสทำดูอยู่เหมือนกัน เอาไว้จะค่อยๆมาทะยอยรีวิวให้ฟังกันนะคะ…
บายค่ะ❤️